มาตรการเข้ม ตรวจโควิด คัดกรองเข้าเมืองภูเก็ต

แชร์ประสบการณ์ เดินทางเข้าภูเก็ต กับมาตรการคัดกรองตรวจโควิด

สามารถรับชมแบบ YouTube ได้ที่นี่ https://youtu.be/iD8-S8XUFLM

สวัสดีครับ วันนี้ผมอยากมาแชร์ประสบการณ์ การเดินทางเข้าภูเก็ต ในช่วงที่มีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าภูเก็ต แบบเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 21-30 เมษายน 2564 นะครับ

มาตรการดังกล่าว บอกเอาไว้ว่า ผู้ที่จะเดินทางเข้าภูเก็ตได้ ต้องผ่านเงื่อนไข อย่างใดอย่างนึงใน 2 ข้อนี้

  1. ได้รับการฉีดวัคซีน
  2. มีผลตรวจไม่พบเชื้อ ภายใน 72 ชม ก่อนการเดินทาง

หากไม่ตรงเงื่อนไข จะต้องถูกตรวจวินิจฉัย Antigen Rapid Test เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด ด้วยการเก็บตัวอย่างแบบ Nasal Swab หรือแบบแหย่จมูก ทั้งผู้ที่เดินทางมาทางเครื่องบิน (สนามบิน) และทางรถยนต์ (ด่านท่าฉัตรไชย)

โดยไฟลท์ที่ผมเดินทางนั้น เป็นไฟลท์บินของสายการบิน AirAsia เลขที่ FD3029 เมื่อวันที่ 22 เมษายนครับ

ก็จะขอมาสรุปขั้นตอนคร่าวๆ โดยขั้นตอนหลังลงจากสนามบิน จะมีขั้นตอน ทั้งหมด 4 ขั้นตอนด้วยกัน

  1. กรอกเอกสาร
  2. ลงทะเบียน
  3. ทำการตรวจหาเชื้อ​
  4. รอผล

ขั้นตอนที่ 1: กรอกเอกสาร

ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรมากครับ จะมีเอกสารอยู่สองใบที่ต้องกรอก ดังนี้

เอกสารที่ต้องกรอก เพื่อตรวจคนเข้าเมือง และคัดกรองเชื้อโรคโควิด ระหว่างเดินทางเข้าเมืองภูเก็ต

ขั้นตอนที่ 2: ลงทะเบียน

ขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ​ 10-20 นาที ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นในสนามบิน

ขั้นตอนที่ 3: เข้ารับการตรวจ

ขั้นตอนการตรวจ ก็จะมีเจ้าหน้าท่ีใส่ชุด PPE และทำการ Swab หรือ แหย่โพรงจมูก เพื่อเก็บเนื้อเยื่อ สารคัดหลังที่ผนังโพรงจมูก

ตัวเราไม่ต้องทำอะไรเลยครับ นั่งเฉยๆ เงยหน้าขึ้นนิดนึง แล้วก็กลั้นใจไว้ ใช้เวลาไม่ถึง 5 วิก็เสร็จแล้วครับ

อาการหลังจากนั้น ก็จะรู้สึกแสบๆ หน่อย ประมาณ ชม. สองชม. ก็จะเริ่มดีขึ้นเยอะแล้วครับ

ขั้นตอนที่ 4: รอผล

หลังจากนั้น ก็จะเป็นช่วงรอผล ก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่ง คอยประกาศเรียกชื่อ ซึ่งของผมใช้เวลารอประมาณ 40 นาที และผลที่ได้ออกมาเป็น Negative หรือไม่พบเชื้อครับ

ถ้าได้ผลเป็น Negative หรือไม่พบเชื้อ ก็สามารถออกจากพื้นที่ตรวจได้เลย แต่อย่าลืมเก็บเอกสารไว้ด้วยนะครับ เพราะหากมีการเดินทางเข้าออกอีกรอบ เช่นไป จังหวัดใกล้เคียง ก็สามารถใช้ใบดังกล่าวแสดงได้ แลผ่านการคัดกรองครับ (ภายใน 72 ชั่วโมง)

แต่หากผลเป็น Positive ก็จะถูกกักตัวชั่วคราว และมีการเก็บตัวอย่างอีกรอบหนึ่ง เพื่อการตรวจที่ละเอียด และแม่นยำมากขึ้นครับ

อธิบายการตรวจคัดกรอง

พูดถึงการตรวจ Covid จริงๆ ก็มีอยู่หลากหลายวิธี ด้วยความสงสัยของผมเอง จึงได้ลอง Research คร่าวๆ แล้วก็พบว่ามันน่าสนใจ เลยอยากนำมาแชร์ให้ฟังครับ

ก่อนจะเข้าใจเรื่องวิธีการตรวจ เราต้องเข้าใจ 2 คำนี้ ก่อน นั่นก็คือ Antigen และ Antibody ซึ่งสองคำนี้ เป็นคำสำคัญที่ต้องรู้ เมื่อเรากำลังศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือ Immune System

Antigen คืออะไร

เวลามีสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรค เข้ามา ร่างกายจะพยายามทำความรู้จักเอกลักษณ์ ของสาร หรือเชื้อโรคเหล่านั้น เราเรียกเอกลักษณ์นั้นว่า Antigen

Antibody คืออะไร

เมื่อร่างกายรู้จัก และพบว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจะสร้าง Antibody ขึ้นมาต่อสู้ และกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น

นี่คือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในเคสปกติ มนุษย์เราเติบโตมาแบบนี้ พบเจอเชื้อโรค สร้าง Antibody เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และเติบโตต่อไป

Vaccine

แต่ในเคสที่ไวรัส หรือเชื้อโรคแข็งแกร่ง เก่งกว่า และเกิดเป็นโรคระบาดอย่างเช่นโควิด ร่างกายเราก็จะสู้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นไม่ได้

จึงต้องมีการฉีด Vaccine นั่นก็คือการฉีด Antigen เข้าสู่ร่างกาย เพียงเพื่อให้ร่างกายรู้จัก และสร้าง Antibody และส่งผลให้ร่างกาย สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคจริงได้ในอนาคต

รูปแบบ และวิธีการตรวจเชื้อ Covid

การตรวจโควิด แบ่งแยก ออกเป็น 2 ปะเภทใหญ่ๆ ก่อน คือ การตรวจวินิจฉัย (Diagnostic Test) และการตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody Test)

1. การตรวจวินิจฉัย (Diagnostic Test)

คือการตรวจเพื่อค้นหาผู้ที่ติดเชื้อ เพราะเราจำเป็นต้องแยก และกักกันผู้ติดเชื้อ ออกไป เพื่อลดการแพร่เชื้อ

โดยจะแบ่งการตรวจ ออกเป็น 2 แบบ ก็คือ

1.1 Molecular Test หรือการตรวจสารประกอบของเชื้อ แม้จะมีความแม่นยำสูง แต่ส่วนใหญ่ จะใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำในห้อง Lab จึงพบมาก เมื่อเราไปทำการตรวจที่โรงพยาบาล

1.2 Antigen Test, Rapid Test แม้จะมีความแม่นยำต่ำกว่า แต่เหมาะกับการตรวจคัดกรอง เพราะให้ผลลัพธ์เร็ว (ภายใน 30  นาที) และง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ด่านคัดกรองส่วนใหญ่ ใช้วิธีการตรวจแบบ Antigen Test นี้เอง

2. การตรวจหาภูมิ

ใช้เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ตรวจเคยได้รับเชื้อหรือไม่ และมีภูมิคุ้มกันหรือยัง แต่ไม่สามารถสรุปผลว่า ผู้ตรวจกำลังติดเชื้ออยู่หรือเปล่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *