Tumpak Sewu, น้ำตกพันวารี ~ เกาะชวา, อินโดนีเซีย

Tumpak Sewu a.k.a. Coban Sewu, หนึ่งในสุดยอดน้ำตกบนเกาะชวาฝั่งตะวันออก อินโดนีเซีย

Spoiler Alert: บทความนี้, มีรูปภาพที่อาจรบกวน First Impression ของการเดินทางของคุณ, แนะนำให้รับชมแบบ Disable Images และอ่านแต่เพียงข้อความบรรยาย

หมายเหตุ: บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทริปเกาะชวาฝั่งตะวันออก, ประเทศอินโดนีเซีย

คุณยังจำบทแรกๆ ของชีวิตนักเดินทางของคุณกันได้หรือเปล่าครับ? สำหรับผมแล้ว, มันเกิดขึ้นตอนเดินทางไปน้ำตกทีลอซู ช่วงการเดินทางที่ต้องใช้รถปิ๊กอัพ วิ่งลุยไปบนถนนดินแดงจนฝุ่นคละคลุ้งไปทั่ว ต่อด้วยการล่องแพไปตามลำน้ำ ปิดท้ายด้วยการเดินเท้าลุยป่า จนไปถึงตัวน้ำตก… ภาพตรงหน้า เป็นฉากน้ำตกขนาดใหญ่มหึมา ทั้งสูงและกว้างจนกล้อง compact เล็กๆ ไม่อาจเก็บมันทั้งหมดลงไปในเฟรมๆ เดียวได้ ภาพน้ำตกทีลอซู ยังคงเป็นภาพที่ประทับใจของผมมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบทุกครั้ง เวลาเดินทางไปพบน้ำตกต่างๆ

และในบทความนี้ ผมอยากแชร์การเดินทางบทใหม่ การเดินทางไปหาน้ำตก Tumpak Sewu, หนึ่งในน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของเกาะชวา อินโดนีเซีย

แผนที่เต็มๆ https://drive.google.com/open?id=1r6xq7CBA-aiJyxJgyCBTZlKkAf0&usp=sharing

การเดินทาง

น้ำตก Tumpak Sewu ตั้งอยู่ในเขตเมือง Malang แต่สามารถเดินทางจากเมือง Malang หรือ Lumajang (ในแผนที่: บริเวณเบอร์ 2 สีเขียว) ก็ได้

หมายเหตุ: ใน Blog นี้, เป็นข้อมูลของการลงไปสู่หุบเขาผ่านทางจุดชมวิว Panorama ในเมือง Lumajang เพราะเป็นทางที่ง่ายกว่าทางลงของเมือง Malang (แต่อาจจะใช้เวลาเยอะกว่า สัก 15 นาที) ทางลง Malang เหมาะสำหรับคนที่ชอบผจญภัยสุดขั้ว เพราะคุณจะพบกับบันไดไม้ไผ่ที่ตั้งชัน 90 องศา (จริงๆ) ซึ่งค่อนข้างอันตรายหากเตรียมตัวเตรียมใจ และอุปกรณ์มาไม่ดีพอ… (และไม่ได้เห็นจุดชมวิว Panorama ด้วยนะเอ้อ)

สำหรับทริปเกาะชวาของผม, มีผู้ร่วมทริปทั้งหมด 5 คน เราใช้บริการ Local Guide โดยทำการติดต่อจากเมืองไทยไปตั้งแต่แรก เนื่องจากตัวเกาะชวาเอง ไม่ค่อยมีบริการรถโดยสารประจำทาง การเหมารถ หรือจ้าง Local Guide เพื่อนำทางให้เรา เป็นการช่วยประหยัดเวลาไปอย่างมาก

ในวันที่ 3 ของทริปผม, ผมออกเดินทางจากโบรโม่ และน้ำตกมาดาคาริปุระ ตรงดิ่งไปยังโรงแรม Gajah Mada Hotel (GM) ในเมือง Lumajangใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง

เมือง Lumajang เป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็ยังพอมี Supermarket และร้านสะดวกซื้อ Indomaret, Alfamart ให้เห็นอยู่ประปราย ไกด์เลือกเมืองนี้ แทนเมือง Malang เพราะเดินทางไปน้ำตกสะดวกกว่า

โรงแรม GM, โรงแรมที่มีบ่อปลาคาร์พ แต่ไม่มีฝักบัว และเครื่องทำน้ำอุ่น

เรามาถึงโรงแรมในช่วงเย็นๆ พอเก็บกระเป๋ากันเสร็จเรียบร้อย ก็ออกไปทานอาหารร้าน Bamboo ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวโรงแรมมากนัก, สามารถเดินเท้าจากโรงแรมไปได้ ร้านอาหารใช้ไม้ไผ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ทั่วทั้งร้านสมชื่อ และตั้งอยู่เลียบแม่น้ำที่ไหลผ่านตัวเมือง เป็นร้านที่ติดอันดับใน TripAdvisor รสชาติถูกปาก สะอาด บรรยากาศดี แนะนำให้มาลองฝากท้องสักมื้อที่ร้านนี้กันครับ

เราหาของหวานกินกันมื้อดึก เพื่อปิดท้ายวัน โดยเดินย้อนกลับเลยขึ้นโรงแรมไปอีกทาง ก็พบร้าน Putra Bandung

เป็นที่รู้กันว่า คนอินโดนีเซียส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ทำให้คนที่นี่ไม่ทานแอลกอฮอลล์เลย ร้านส่วนใหญ่จึงเป็นร้านเรียบๆ ไม่ค่อยมีสีสัน ดูไม่ค่อยครื้นเครงเท่าใดนัก… แต่ร้าน Putra Bandung เป็นร้านที่ตกแต่งได้สะดุดตาพวกเรามาก… ไฟนีออนสีเขียวส้มเรืองแสง ที่ประดับอยู่ทั่วร้าน พร้อมเปิดเพลงฝรั่งคลอเสียงดังเกินค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ให้อารมณ์เหมือนผับนั่งชิลล์ ถือได้ว่าเป็น Rare Items ในเกาะชวา… เมื่อเจ้าของร้านเชื้อเชิญเราเข้าไปนั่ง จึงทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ยากเลย

นอกจากนี้ เจ้าของร้านก็ต้อนรับขับสู้เราได้อย่างน่ารักมาก สิ่งแรกที่ผมประทับใจเลยคือ เธอพูดภาษาอังกฤษ! (หาคนพูดภาษาอังกฤษได้ยากมากๆ ในเกาะชวา) เธอชื่อโรซี่ เป็นคนจีนที่มาเปิดร้านอาหารในเมืองแห่งนี้ และชวนเราคุยตามภาษานักท่องเที่ยว เธอรู้สึกแปลกใจว่าเราเป็นคนไทย เพราะหน้าตาพวกเรา ดูจีนแท้ๆ หลังจากนั้น เธอก็แนะนำเมนูอาหารต่างๆ อย่างเจื้อยแจ๊ว เรียกได้ว่า ไม่มี Dead Air กันเลยทีเดียว

เราได้น้ำมะนาว, โคโรเกะ (Koroke, มันคือผัดเปรี้ยวหวานไก่ทอด) และก็ไอติมอโวคาโดปั่น นั่งรออาหารสักพัก เพลงฝรั่งแนวเรกเก้ ถูกเปลี่ยนเป็นเพลงไทย! โอ้ว… เป็นร้านที่ Customize สุดๆ เอาใจไปเลย รสชาติอาหารก็ถูกปาก ใครแวะมาเมือง Lumajang อย่าพลาดร้านนี้ทีเดียว 🙂

คุณโรซี่ เจ้าของร้าน Putra Bandung ในเมือง Lumajang

วันรุ่งขึ้น, เราเตรียมตัวออกเดินทางจากโรงแรม 7 โมง, แต่สมองช่วงเช้าของผมจะไม่ถูกปลุกถ้าหากขาดคาเฟอีน… เป็นอีกความยากหนึ่งเหมือนกันในการหากาแฟอร่อยๆ ในเกาะชวาแห่งนี้…. เราเดินหากันอยู่นานสองนาน… ก็ไปพบ Fitness Gym ที่เป็น Cafe ด้วย… โอ้วว้าว… คาเฟ่นักกล้ามครับท่านผู้ชม…

ร้านนี้มีชื่อว่า Sanggar Great Gym Cafe, และทีนี่นี่เอง… เราพบกับคุณบัวขาว! แต่แปลกตรงที่ เขาไม่พูดภาษาไทยแหะ…

พบคุณบัวขาว ณ ร้าน Great Gym Cafe ในเมือง Lumajang, East Java, Indonesia

เป็นร้านกาแฟที่รสชาติดีที่สุด ตั้งแต่อยู่อินโดฯ มา 5 วัน… ก่อนออกเดินทางไปน้ำตก อย่าลืมแวะมาเติมพลังกันที่ร้านนี้ก่อนนะครับ เพราะต้องใช้พลังงานเยอะ!

เข้าสู่ช่วงนั่งรถ… ทริปอินโดฯ นี่ ทำใจไว้เลยว่า นั่งรถกันจนเบื่อแน่นอน… เพราะแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว ช่างอยู่กันห่างไกลเหลือเกิน… เส้นทางขึ้นน้ำตก อารมณ์คล้ายๆ กับ ขึ้นภูต่างๆ ในบ้านเรา มีความคดเคี้ยวเลี้ยวลด ถนนหนทาง ก็เป็นหลุมเป็นบ่อบ้างเป็นกระไส แต่ไม่มากจนทำให้การท่องเที่ยวหมดสนุก และระหว่างทาง หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง, คุณจะเห็นเขาพระสุเมรุ ตั้งเด่นเป็นตระหง่าน

เขาพระสุเมรุ, ภูเขาไฟอีกหนึ่งลูกบนเกาะชวา สามารถไต่ขึ้นไปได้ แต่ต้องเผื่อเวลาสัก 3 วัน และกางเต้นนอน

เวลาเก้าโมง, เราถึงจุดจอดรถของตัวน้ำตก… ทีนี่มีห้องน้ำให้เปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อจัดการเตรียมอุปกรณ์กันเรียบร้อย เราก็เดินลงไปตามทาง ผ่านสวนสละ (อร่อยมาก) จนมาถึงจุดชมวิว Panorama… ที่จุดชมวิวจุดนี้ คุณจะเห็นน้ำตก Tumpak Sewu จากด้านบนแบบเต็มๆ ตา…

น้ำตก Tumpak Sewu, ลักษณะของน้ำตก เป็นเส้นน้ำไหลผ่านหน้าผาที่มีความสูง 300 เมตร เว้าเข้าไปเหมือนเส้นครึ่งวงกลม…. เส้นสายของน้ำตก มีความหนาบางตามธรรมชาติรังสรร เมื่อมองด้วยตาเปล่า จะเห็นว่า มีสายน้ำตกไหลลงมา ในทุกๆ องศาของรัศมีครึ่งวงกลมนั้น… จึงไม่แปลกเลยที่ชาวบ้านจะเรียกน้ำตกนี้ว่า Tumpak Sewu (หนึ่งพัน) หรือชื่อไทยที่ผมตั้งเองว่า “น้ำตกพันวารี”

จุดชมวิว Panorama ของ Tumpak Sewu

แต่จุดหมายของพวกเราไม่ใช่ Bird Eye View ของน้ำตก… แต่เป็น Ant Eye View! เราตั้งใจที่จะลงไปในหุบเขา เพื่อมองน้ำตกนี้จากส่วนล่างที่สุด… และโชคดีที่วันนี้อากาศเป็นใจ มีแดด และไร้เมฆฝน ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยาน อนุญาต และนำทางเราเดินทางลงไปสู่หุบเขาแห่งนี้…

เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานที่ช่วยนำทางเราชื่อคุณพุทธิ เดินจากจุดชมวิวไปสักพัก ก็เริ่มมองเห็นฟิลผจญภัย… ไม้ไผ่ที่ลาดลงรัวๆ แบบไม่มีจุดพัก ทำให้เป็นห่วงกันว่า ขาขึ้นจะไหวกันหรือเปล่า… โชคดีที่อุปกรณ์ต่างๆ จัดทำไว้อย่างแข็งแรง ความกลัวจึงไม่ค่อยเข้ามาย่างกรายเท่าไหร่… แต่คิดได้อย่างนั้นไม่นาน… เส้นทางไม้ไผ่ก็หมดลง และกลายเป็นการโรยตัวตามเชือกไปบนเส้นทางน้ำตกสายหนึ่ง… โอ้ว… ไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องลุยกันขนาดนี้ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของสมาชิกในทีมทั้ง 5 คน (ที่เพิ่งซื้อรองเท้าแตะรัดส้นจากจุดพักรถกันมา คู่ละ 100 บาท)

รองเท้าช้างดาวหลบไป…

ใช้เวลาประมาณ 45 นาที เราก็ลงมาจนถึงจุดใต้สุดของหุบเขา… มีเส้นทางน้ำไหลผ่านกลางระหว่างผาสองฝั่ง… มองย้อนขึ้นไป จะพบหน้าผาขนาบข้าง ที่มีลักษณะสีเขียวชะอุ่มจากมอส เฟิร์น และพืชพรรณไม้ต่างๆ กลุ่มผมมาหน้าฝน ยิ่งช่วยขับความเขียวสดเหล่านี้ให้ดูสดชื่นยิ่งขึ้น รู้สึกโชคดีจริงๆ ที่วันนี้แดดออก

เส้นทางยังไม่จบแค่นั้น… เราเดินเลี้ยวไปทางขวา อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นการเดินทางที่ให้ความรู้สึกพิเศษสุดๆ… ผมรู้สึกเหมือนโดนธรรมชาติโอบกอดตลอดเวลา… ผาสองข้างสีเขียวๆ ที่สูงจนเกือบมิดฟ้า เมื่อเรามองจากจุดใต้สุดของพื้นดิน ทำให้รู้ตัวว่า เราตัวเล็กแค่ไหนเมื่อเทียบกับธรรมชาติ

เนื่องจากเป็นหน้าฝน และยังเช้าอยู่มาก ทำให้กลุ่มเรา กลายเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่เดินอยู่ในหุบเขาแห่งนี้… ยิ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกพิเศษมากเข้าไปอีก

เดินไปตามทางน้ำในหุบเขา ที่โอบอุ้มด้วยผาเขียวชะอุ่มทั้งซ้ายและขวา… เป็นความฟินแบบหนึ่งของการเดินป่า…

ในบางจุดของหุบเขา, เราจำเป็นต้องเดินข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่ง… เจ้าหน้าที่ช่วยจูงมือเราข้ามไป เพราะน้ำในลำธารช่วงหน้าฝนไหลเชี่ยวกรากมากๆ… เราข้ามกันอย่างทุลักทะเล แต่ก็ปลอดภัย เมื่อข้ามอีกสองสามจุด… เราเริ่มได้ยินเสียงน้ำตกดังขึ้น และเมื่อตัวเราก้าวพ้นขอบผาสุดท้ายไป ภาพที่เห็นก็สร้างความประทับใจให้ผมแทบจะทันที… น้ำตก Tumpak Sewu ที่สูงจนเกือบมิดฟ้า ในมุมมองจากมดตัวนึง…

น้ำตก Tumpak Sewu หรือ น้ำตกพันวารี

ผมรู้สึกคล้ายๆ กับการได้ค้นพบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ… มันรู้สึกดีที่เราได้ยืนอยู่ตรงหน้าสายน้ำตกจำนวนหลายร้อยสาย ที่มีความสูงใหญ่ และกว้างจนไม่สามารถมองได้ครบในองศาการมองเพียงครั้งเดียว… ผมเหมือนได้รับพลังของธรรมชาติจากเสียงน้ำตกที่ดังคำราม… ละอองน้ำที่สัมผัสใบหน้าและผิวกาย อุณหภูมิและความชื้นแบบพอดีๆ ช่วยเพิ่มความเย็นชุ่มช่ำให้ร่างกาย ทั้งหมดนี้, ช่วยเติมเต็มโสตประสาตสัมผัสทั้งห้า ในการชื่นชมความอลังการของสิ่งสร้างจากธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่ผมเคยเจอมา

เราใช้เวลาอยู่ในนี้กันค่อนข้างนาน เราชื่นชมมันด้วยสายตา… รวมถึงใช้กล้องเพื่อบันทึกทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว… เพื่อตักตวงโมเมนต์พิเศษช่วงหนึ่งนี้ในชีวิตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

เมื่อเรามั่นใจกันว่า เราตักตวงความรู้สึกพิเศษเหล่านี้กันจนอิ่มล้นแล้ว… เราก็ออกเดินทางกันต่อ แต่ไม่ใช่การเดินทางกลับ… เราเดินทางไปในเส้นทางของส่วนที่เรียกว่า Goa Tetes

ผมไม่ได้หาข้อมูลของส่วนนี้มาเลย ไม่เคยเห็นภาพ ไม่รับรู้ว่ามันคืออะไรเสียด้วยซ้ำ… แต่เมื่อเราเดินย้อนกลับไป จนเลยจุดทางที่เราเดินลงมา… มันเป็นฉากอีกฉากหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้นไปอีก…

ลักษณะน้ำตกที่ไหลบนโขดหินที่มีลักษณะเหมือนหินงอกหินย้อยสีดำมืดขนาดใหญ่ตามหน้าผาสองข้างทาง… เป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต… ยิ่งเดินก็ยิ่งหลงรักกับภูมิทัศน์ที่แปลกตากว่าทุกสถานที่ที่ผมเคยไปมา… บางจุดเป็นโขดหินมอสหลังม่านน้ำตก ให้เราได้ปีนป่ายเล่นราวกับเป็นหน้าผาจำลอง… อีกส่วนหนึ่งก็เป็นบ่อน้ำที่มีความใสสุดๆ พร้อมรอให้เราลงไปเล่นแช่น้ำ ทั้งยังมีเครื่องนวดหลังพลังน้ำตก… นี่มันคือจากุซซี่ที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า… บอกได้เลยว่า… โข้ดฟิน…

หน้าผาจำลองธรรมชาติ… เอ๋? หรือไม่ควรใช้คำว่า “จำลอง” น้ะ?

เราเดินเล่นน้ำแบบไม่รู้จักคำว่าเบื่อ ราวกับเป็น Water Park แห่งหนึ่ง แต่เปียกปอนกันยิ่งกว่า…

พวกเราใช้เวลาอยู่ในหุบเขานี้กันเกือบ 2 ชั่วโมง, จนสมควรแก่เวลาเดินทางกลับ… ผมนอนหงายราบกับพื้นดินบนหุบเขา เพื่อจดจำความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตเอาไว้ให้นานที่สุด… ณ ตอนนั้น ผมคิดในใจว่า หากฝันถึงมันได้ทุกคืน คงเป็นเรื่องที่เจ๋งน่าดู

เมื่อมั่นใจว่าความทรงจำเหล่านี้ถูกบันทึกอย่างแน่นหนาแล้ว… เจ้าหน้าที่ก็ได้เวลาพาพวกเราเดินทางกลับย้อนไปในเส้นทางเดิมที่เราลงมา… เราดึงเชือกเพื่อรั้งตัวเองขึ้นผ่านเส้นทางน้ำตก… เดินขึ้นตามบันไดไม้ไผ่… ผ่านสวนสละ จนมาถึงจุดจอดรถ…

เวลาบ่ายโมงครึ่ง… ฝนบนเกาะชวาเริ่มร่วงหล่นลงมาแทบจะทันทีที่เราถึงจุดจอดรถ… ผมยิ้มขอบคุณธรรมชาติในใจ ขอบคุณที่มันอุตส่าห์อดทดกลั้น รอนักท่องเที่ยวคนไทยเพียงกลุ่มเดียวที่ยังเที่ยวเล่นในหุบเขาจนเสร็จ แล้วค่อยปล่อยเม็ดฝนลงมา…

ผมไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ แต่ประสบการณ์ทั้งหมดที่พบเจอจากการท่องเที่ยว Tumpak Sewu ครั้งนี้… มันทำให้ผมตกหลุมรักมันเสียแล้ว…

สิ่งที่ควรรู้

ยิ่งเขียน… ยิ่งเพลิน… ยิ่งยาว… แต่นี่คือสิ่งที่คุณควรทราบจริงๆ จะได้ไม่ต้องพลาดแบบผมซ้ำสอง 🙂

  1. อย่าไปหน้าฝน! เช็คสภาพอากาศก่อนการเดินทาง เพราะในวันที่ฝนตก, เจ้าหน้าที่อุทยานจะไม่ให้เราเข้าไปเล่นในหุบเขา (ได้แต่ยืนมองที่จุดชมวิว)
  2. อย่างไรก็ตาม… หากคุณมีความจำเป็นต้องไปหน้าฝน (หรือจองพลาดด้วยความไม่รู้แบบผม…) ให้ตื่นแต่เช้า แล้วรีบออกเดินทาง เพราะฝนบนเกาะชวา ทำงานเป็นเวลา จะเริ่มตกไปตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ จนถึงเช้ามืด… พยายามวางแผนให้ถึงตัวน้ำตกยิ่งเช้ายิ่งดี เพื่อลดโอกาสที่ฝนจะตก และมีเวลาเที่ยวในหุบเขานานขึ้น
  3. Accessories ต้องพร้อม! ไปในชุดพร้อมเปียก… ผมแนะนำเสื้อ Airism ของ UNIQLO เป็นเสื้อที่คล่องตัว และแห้งเร็วสุดๆ ส่วนรองเท้าพยายามหารองเท้าแตะที่แข็งแรง และรัดข้อด้วยจะดีมาก เพราะการปีนป่ายตามโขดหินและบันไดไม้ไผ่ที่มีความชัน (มาก) และลื่น (มาก) ถ้าช้างดาวธรรมดา รองเท้าอาจจะร่วงหลุดได้ง่ายๆ… ส่วนรองเท้าผ้าใบก็ไม่แนะนำ เพราะต้องลุยน้ำข้ามห้วย… นอกจากรองเท้าจะพัง น้ำยังขังอยู่ในรองเท้า ไม่สนุกแน่นอน กางเกงก็ขาสั้นไปเลย แมนๆ… ถุงกันน้ำยังไม่มี ก็ซื้อไปเลย… ได้ใช้แน่นอน
  4. อย่าลืมกล้อง! ต้องใช้กล้องกันน้ำ หรือ Action Camera เท่านั้น เพราะตัวคุณจะเปียกปอนตลอดเวลา จากความใหญ่มหึมาของน้ำตก Tampak Sewu… และละอองน้ำ จากน้ำตกตลอดสองข้างทาง ในช่วงที่คุณเดินไปในเส้นทางของ Goa Tetes
  5. อย่าเอาของไปเยอะ… น้ำคนละขวด กับกล้อง จบ… ไม่งั้น จะกลายเป็นภาระของไกด์
  6. ถ้าหากมีเวลา, พกถุงดำไปช่วยเก็บขยะด้วยก็ได้ครับ… ขยะในนั้นเยอะมาก แม่งานกลุ่มผม อุตส่าห์ไปหาถุงพลาสติกที่คนทิ้งไว้ในหุบเขา เพื่อเอามาใช้เก็บขยะตามทาง แต่เก็บเท่าไหร่ก็เก็บไม่หมด… ถือว่าช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ
รองเท้าสีดำกับสีเขียว ซื้อมาจากจุดพักรถ (เพราะไม่ได้เตรียมา T-T) ไม่ลื่น แต่กัดเท้า… ส่วนแชมป์บอกรองเท้า keen รุ่น uneek (รองเท้าเชือกสีขาวในรูป) เวิร์กมากๆ… ลองหามาใส่กันดูได้เล้ยยย

ส่งท้าย

น้ำตก Tumpak Sewu หรือ Coban Sewu (หากเรียกจากชาวบ้านฝั่ง Malang) ยังมีข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่น้อยมาก เท่าที่ผมค้นหาส่วนใหญ่ จะเป็นภาษาอินโดนีเซีย… ผมจึงเขียน Blog นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังมองหา จุดหมายแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นทางเลือก หรือเสริมทริปนอกจากโบรโม่ และอิเจี้ยน บนเกาะชวาตะวันออกแห่งนี้ หากใครต้องการข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม สามารถหลังไมค์มาถามผมได้ที่อีเมลล์ chaintng@gmail.com หรือ Line ID: porpordee ครับ หรือถ้าใครไปมาแล้วก็แวะเข้ามาทักทายได้นะครับ อยากฟังเรื่องราวของคุณบ้าง 🙂

ขอบพระคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *