โพสต์นี้, เป็นเหมือน “กระดาษทด” เพื่อบันทึกสิ่งที่เข้าใจ หลังการอ่านหนังสือเรื่อง “The Illustrated Happiness Trap”
หมายเหตุ: ไม่อยากเรียกโพสต์นี้ว่าบทความ เพราะไม่ได้มาจากความคิดตัวเอง และก็ไม่มั่นใจว่าเข้าใจถูกต้องอย่างที่ผู้เขียนถ่ายทอดหรือเปล่า แค่อยากจดไว้ เตือนความจำระหว่างทาง และเผื่อมีใครหลงเข้ามาอ่าน จะได้พูดคุย ถกเถียงกันต่อได้ครับ
หนังสือเล่มนี้ ผมได้มาจากงาน Big Bad Wolf คนเยอะมากกก… ตลอด 84 ชั่วโมง !!
บรรยากาศงานนี่… อย่างกับแจกของฟรี (ซึ่งมันก็ถูกมากจริงๆ…) คนลากตะกร้ากันพัลวัน อย่างกับอยู่ IKEA …
ส่วนตัวผม ได้มา 2 เล่ม… ถ้าเป็นคนอ่านหนังสือเร็วกว่านี้ ก็อยากซื้อเยอะกว่านี้…
หนังสือที่จะรีวิวนี้ มีชื่อว่า “The Illustrated Happiness Trap” หรือ “หลุมพรางของความสุข (ฉบับภาพประกอบ)” ที่มีในวงเล็บเพราะว่า เล่มจริงจะอัดแน่นข้อมูลมากกว่านี้ และเป็น Text ล้วนๆ… แต่เล่มที่ได้มา เป็นเวอร์ชั่นอ่านง่าย… ย่อยง่าย… มีภาพประกอบทุกหน้า… เหมาะสำหรับคนขี้เกียจอย่างผมจริงๆ 555
Part 1: ความเข้าใจผิด (Misperception)
Part แรกของหนังสือ จะเล่าเกี่ยวกับ Perception ผิดๆ ของคนส่วนใหญ่ เช่น คนเราอาจจะคิดว่า สภาวะปกติของมนุษย์คือ สภาวะที่เป็นสุข และมองสภาวะทุกข์ต่างๆ เป็นปัญหา
ยกตัวอย่าง เช่น ตอนที่เรารู้สึกไร้ค่า ไม่มั่นใจตัวเอง อ่อนแอ หรือเข้ากับใครไม่ได้ เรามักจะพยายาม “กำจัด” ปัญหาเหล่านั้นออกไปจากชีวิต หรือพยายาม “ควบคุม” อารมณ์ตัวเอง… ต้องไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่เจ็บปวด…
การกำจัดความทุกข์ มีอยู่สองหนทาง คือ “สู้” หรือ “ถอย” ซึ่งหากคุณทำแต่พอดีๆ ก็คงไม่เป็นไรมาก แต่หากคุณใช้วิธีนี้มาเกินไป… อาจจะทำให้คุณ “ตกหลุมพราง” และเข้าสู่ “วงจรอุบาทว์” กลายเป็นคนเก็บกด หรือหนีปัญหา…
ผู้เขียนพยายามบอกว่า การพยายาม “กำจัดปัญหา” เป็นสิ่งที่ “ทำได้” แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และมันทำให้คุณ “หลุดโฟกัส” เบนตัวคุณ ออกจากเป้าหมายในชีวิตที่แท้จริงของคุณไป
คุณควรจะ… เลือกทำในสิ่งที่ “สำคัญ และ มีความหมาย” มากกว่า การทำเพื่อ “กำจัดความทุกข์”
ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาคุณรู้สึกไม่พอใจกับรูปร่างตัวเอง… คุณไปเข้ายิม หรือออกกำลังกาย คุณควรไปด้วยความคิด “เพื่อรักษาสุขภาพของคุณ” มากกว่า “เพื่อลบคำสบประมาท”
หมายเหตุ: ผมก็คิดเหมือนคุณครับว่า… “เพื่อลบคำสบประมาท” เป็นแรงผลักดันที่ดี แต่ที่ผมเข้าใจ สิ่งที่ผู้เขียนท่านนี้จะสื่อก็คือ… มันทำคุณเบนออกจากสิ่งที่คุณให้คุณค่าในชีวิตของคุณจริงๆ ไป และอาจทำให้ชีวิตคุณขาดความหมาย เพราะคุณเอาตัวคุณ ไปยึดติดกับคำพูดของคนอื่น เป็นต้น
Part 2: การมีสติ (Mindfulness)
เข้าสู่ Part ที่ 2, ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงความทุกข์ไม่ได้… ผู้เขียนก็เริ่มแนะนำวิธีการที่จะอยู่ร่วมกับมันแทน เพื่อเป้าหมายเดียวคือ สติ (Mindfulness)
ผู้เขียนใช้วิธีการที่ชื่อว่า ACT (Acceptance and Commitment Therapy) มีขั้นตอนง่าย คือ ปล่อยวาง -> เผื่อแผ่ -> เชื่อมต่อ ….
ใครอ่านแล้วรู้สึกว่าคุ้นๆ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเหมือนหลักของ พระพุทธศาสนา ม๊ากกกก…
ขั้นตอนที่ 1: ปล่อยวาง (Defusion)
ในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ความคิดในหัวจะถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา เช่น … “ฉันทำไม่ได้หลอก” “กูมันห่วยแตก” ซึ่งพอเราไปยึดติดกับมันมากเกินไป ตัวเราก็จะยิ่งถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก
ผมชอบตรงที่ผู้เขียนกล่าวถึง ความคิด (Thoughts) ที่ว่า… มันเป็นเพียงแค่ “คำ” (Words) ที่วางอยู่ภายในหัวของเรา …
“คำ” ที่ไปอยู่บนกระดาษ เราเรียกว่า “ตัวอักษร”…. “คำ” ที่อยู่ในเสียง เราเรียกว่า “คำพูด” ซึ่งไอ้คำต่างๆ เหล่านี้ มันมีทั้งจริง และไม่จริง มีทั้งเป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์
เทคนิคการปล่อยวาง, ผู้เขียนแนะนำวิธีง่ายๆ คือ ให้เติมคำว่า “ฉันกำลังมีความคิดว่า….” ไปข้างหน้าความคิดเหล่านั้น… เช่น “ฉันกำลังมีความคิดว่า… ฉันรู้สึกไร้ค่า”
คุณอาจจะเริ่มสัมผัสได้ว่า ตัวคุณ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในความคิดเหล่านั้น นี่คือเป้าหมายของเทคนิคนี้ครับ
หรืออีกเทคนิคนึง คือ ทำให้เป็นเรื่องตลก… เช่น พอคุณมีสติรู้ทันความคิดนั้น ก็ให้เติมต่อท้ายไปว่า “ขอบใจเว้ย, ไอ้ความคิด” หรือ “เรื่องนี้มึงเล่าไปแล้ว สาาดด…” ทำนองนี้ครับ
ทั้งนี้… ถ้าหากความคิดนั้นมันจริงหละ ? ผู้เขียนย้ำว่า มันไม่สำคัญว่าจริงหรือไม่จริง แต่มันมีประโยชน์หรือไม่ ที่จะจมอยู่กับมัน… เช่น หากคุณทำไม่ได้ และเอาแต่คิดว่ายังไงคุณก็ทำไม่ได้ ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร คุณควรเริ่มคิดที่จะมองหาความช่วยเหลือต่างหาก
ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่คุณจมอยู่กับความคิดว่า คุณมันไม่ดีพอ… คุณก็จะไม่มีทางมองเห็นหรอกว่า ใครกำลังรักคุณอยู่
ขั้นตอนที่ 2: เผื่อแผ่ (Expansion)
ขั้นตอนนี้ ผู้เขียนพยายามเน้นการอยู่ร่วมกับ “อารมณ์” ครับ
อารมณ์เกิดขึ้นจาก ภาพหรือความคิดในหัวเรา บวกกับ ความรู้สึก และสัมผัส ที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา
เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น ผู้เขียนแนะนำวิธีการรับมือ 3 ขั้นตอน ได้แก่
- วินิจฉัย (Observe): สังเกตว่าร่างกายรู้สึกอย่างไรอยู่ ไล่เรียงสัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย
- หายใจ (Breathe): หายใจเข้าลึกๆ และสร้างพื้นที่ให้กับอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น
- ยอมรับ (Allow): ยอมรับความรู้สึกเหล่านั้น ให้เป็นส่วนหนึ่งกับร่างกาย แม้จะเป็นความคิดที่ไม่ชอบก็ตาม
ขั้นตอนที่ 3: เชื่อมต่อ (Connections)
ผู้เขียนให้พยายามฝึกสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว…อาจจะใช้เวลาวันละ 10 นาที ฝึกสมาธิ สังเกตุลมหายใจ ฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ตรวจตราสัมผัสต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด
เป้าหมาย คือ ให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา, รับรู้กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และ ชื่นชมกับทุกชั่วขณะอย่างเต็มที่
สรุป Part ที่ 2, การสร้างสติ (Mindfulness) คุณต้องแยกตัวตนของคุณออกมาจากโลกในความคิดของคุณให้ได้ อย่าใส่ใจกับมันมากนัก ให้เหมือนเสียงโทรทัศน์ที่คุณเปิดทิ้งไว้ แม้เสียงโทรทัศน์จะดัง แต่มันไม่ได้ขวางทางคุณในการทำงานต่างๆ พอคุณหลุดออกจากโลกความคิดของคุณได้ คุณจะเริ่มใส่ใจกับปัจจุบัน พยายามรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อนั้น คุณจะเริ่มมองเห็นความเป็นจริงที่ชัดเจนมากขึ้น
Part 3: ความหมายของชีวิต (Meaningful)
Part สุดท้าย ผู้เขียนจะเน้นเรื่อง การค้นหาความหมายของชีวิต (Meaningful)
แรงขับเคลื่อนของเราในการดำเนินชีวิตจริงๆ ก็คือ คุณค่าที่เรายึดมั่นถือมั่น สิ่งที่หัวใจเราเรียกร้องว่าเราต้องการทำอะไรในชีวิต จุดยืนของเราอยู่ตรงไหนบนโลกนี้ และเราจะเป็นคนแบบไหนต่อคนในสังคมรอบตัวเรา
การที่เราได้ไล่ตามสิ่งที่เราให้คุณค่าในชีวิต… มันช่วยเติมเต็มชีวิต และความหมายของการมีชีวิตอยู่ — ใช่, แม้กระทั่งตอนที่มันทำให้เราเจ็บปวดด้วยซ้ำ
“เป้าหมาย” กับ “คุณค่า” ไม่เหมือนกัน
คุณอาจจะให้คุณค่า กับความรัก ส่วนเป้าหมายของคุณ คือ การแต่งงาน
เป้าหมายเป็นจุดแต่ละจุดที่เรียงต่อๆ กัน บน เส้นทางที่คุณให้คุณค่าไว้
คุณค่าใหญ่ๆ ในชีวิต แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง คือ
- สุขภาพ: ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ
- ความสนุก: กีฬา, งานอดิเรก และงานสร้างสรรค์ต่างๆ
- หน้าที่การงาน: อาชีพ หน้าที่ การศึกษา และการพัฒนาตนเอง
- ความรัก: เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
คุณอาจจะเริ่มโฟกัสไปที่ละเรื่อง พยายามทำความเข้าใจคุณค่าที่คุณให้ความสำคัญกับมันอย่างถ่องแท้ และตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น ที่สำคัญ เป้าหมายที่คุณตั้งต้องชัดเจน (Be Specific)
สรุป
ส่วนตัวแล้ว, ที่ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะว่า… มันช่วยให้ผมเห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร ควรรับมือกับความคิดด้านลบอย่างไร… มองเห็นความสำคัญของปัจจุบันมากขึ้น และทำให้ผมเกิดคำถามหลายๆ อย่างกับตนเอง